;
ประวัติงานกาชาด
วันที่เผยแพร่ 14-09-2567

ในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง งานเทศกาลประจำปีที่นับว่าเป็นงานใหญ่เป็นงานรื่นเริง ส่วนมากจะเป็นงานวัดประจำปี แต่ต่อมาเมื่อสภากาชาดสยามได้ร่วมอยู่ในสันนิบาตสภากาชาดแล้ว จึงมีความเห็นว่า สภากาชาดแต่ละประเทศควรจะจัดงานเผยแพร่กิจการของสภากาชาดให้เป็นที่รู้จักกว้างขวาง เพื่อให้เกิดความสามัคคี คณะกรรมการเจ้าหน้าที่ของสภากาชาดสยามจึงได้ตกลงให้มีงานประจำปีขึ้น งานกาชาดจึงได้จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2465 ถึงวันที่ 8 เมษายน พุทธศักราช 2466 (ในสมัยนั้นใช้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่) ณ ท้องสนามหลวง โดยเรียกงานนี้ว่า "การรับประชาสมาชิก พุทธศักราช 2466" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่กิจการของสภากาชาดสยามและเป็นการชักชวนให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมกับสภากาชาดสยามด้วยการเข้าเป็นสมาชิก โดยเก็บค่าบำรุงปีละ 1 บาท มีผู้สมัครเข้าเป็นประชาสมาชิกจำนวนถึง 13,436 ราย ซึ่งเงินเหล่านี้จะนำไปบำบัดโรคภัยไข้เจ็บแก่ประชาชนเท่ากับว่าเป็นการบริจาคเพื่อการกุศล พร้อมกันนี้ก็เพื่อเป็นงานประจำปีต้อนรับสมาชิกของสภากาชาดไปด้วย ฉะนั้นงานหลักของงานวันกาชาดคือการหาสมาชิก นับแต่นั้นมาจึงได้ให้มีการจัดงานกาชาดขึ้นเป็นประจำทุกปี

โดยงานในปีแรกเป็นที่สนใจของประชาชนเป็นอย่างมาก จัดให้มีกระบวนแห่รถไปตามถนนสายต่าง ๆ แล้วไปจอดรวมกันที่ท้องสนามหลวง ประชาชนต่างออกมาดูกระบวนแห่ทั้งตามรายทางและที่ท้องสนามหลวงจึงเป็นโอกาสให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีทั้งอนุสมาชิกชาย หญิง นักเรียน ลูกเสือได้พบปะชักชวนประชาชนเข้าเป็นสมาชิก

ปี 2467 จัดให้มี“การแข่งขันว่าว”ครั้งแรกโดยเก็บเงินบำรุงได้ถึง ๓,๔๔๓ บาท ๖๗ สตางค์ ปี 2468 ได้เริ่มให้มีการแสดงว่าวภาพ การจำหน่ายลูกลอยกาชาด (ลูกโป่ง) และ “ธงกาชาด” ครั้งแรก

กระทั่งในปี 2471 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สภากาชาดสยามได้อาศัยพระราชอุทยานสราญรมย์ เป็นสถานที่จัดงานและให้ใช้ชื่อว่า     “งานวันกาชาด” และได้จัดให้มีการแสดงเพิ่มขึ้น เช่น งิ้ว 3 โรง ภาพยนตร์ของบริษัทพัฒนากรและกรมสาธารณสุข พิณพาทย์ของวังบางขุนพรหมและกระทรวงวัง แตรวงทหารบก ทหารเรือ ฯลฯ ต่อมางานวันกาชาดได้พยายามหา ของแปลกใหม่ที่น่าสนใจมาจัดแสดงเพิ่มขึ้นทุกปี เริ่มจากปี 2472 ได้เริ่มให้มีการสอย “ผลกัลปพฤกษ์” เป็นครั้งแรก รางวัลได้แก่ เครื่องเวชภัณฑ์ เสื้อผ้า ค่าสอยกัลปพฤกษ์มิได้กำหนดราคาไว้แล้วแต่ศรัทธา ปี 2473 มีการแสดงรถมอเตอร์ไซค์ไต่ถังเหล็กของนายเลื่อน พงษ์โสภณ โดยการแสดงนี้เกิดจากการที่ได้มีชาวต่างประเทศชื่อมิสเตอร์คิง     ได้เข้ามาจัดการแสดงในประเทศไทย ซึ่งนายเลื่อนได้ให้ความสนใจอย่างมากโดยเข้าไปดูถึง 5 ครั้ง ในวันเดียว จากนั้นกลับฝึกหัดจนสำเร็จและนำมาจัดแสดงขึ้นครั้งแรกในงานกาชาด และในปี 2476 งานวันกาชาดได้จัดให้มีขึ้นอีกครั้งหลังจากที่เว้นว่างมานานและรัฐบาลได้อนุมัติให้มีการออกลอตเตอรี่ ราคาฉบับละ 1 บาท โดยให้ใช้ชื่อว่า “ลอตเตอรี่สภากาชาดสยาม” หรือที่ในปัจจุบันเรียกว่า สลากกาชาด 

ต่อมาในปี 2481 งานวันกาชาดได้ย้ายจากพระราชอุทยานสราญรมย์มาจัดที่สถานเสาวภา ในปี 2495 แผนกกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จัดให้มีการประกวดสุขภาพเด็ก ในงานวันกาชาดขึ้นเป็นครั้งแรกและในปี 2499 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สภานายิกาสภากาชาดไทย ทรงมีพระราชเสาวนีย์โปรดเกล้าฯ ให้หม่อมกอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยา เป็นประธานกรรมการอำนวยการจัดงานกาชาดโดยอาศัยเจ้าหน้าที่แผนกเลขานุการกองบรรเทาทุกข์และอนามัย เป็นผู้ดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดเตรียมงาน

จากนั้นในปี 2500 งานกาชาดจึงได้ย้ายมาจัดงานที่สวนอัมพร ในปีแรกของการย้ายสถานที่ถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ เป็นองค์ประธานเปิดงานพร้อมด้วยพระราชโอรสและพระราชธิดา ซึ่งต่อมาบริเวณจัดงานได้ขยายออกไปถึง ลานพระบรมรูปทรงม้า ถนนศรีอยุธยา และถนนราชดำเนิน ทั้งยังได้จัดให้มีพิธีพระราชทานเหรียญกาชาดสมนาคุณแก่ผู้ทำคุณประโยชน์ให้สภากาชาดไทยในตอนค่ำ มีงานเลี้ยงพระราชทานแก่ผู้ทูลเกล้าฯ ถวายเงินบำรุงสภากาชาดไทยและคณะกรรมการจัดงานฯ รวมถึงได้มีการพัฒนากิจกรรมและเปลี่ยนรูปแบบไปบ้างตามความเหมาะสม โดยในปี 2504 ได้จัดให้มีการประกวดธิดากาชาดเป็นครั้งแรก 

ในปี 2505 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานการแสดงบัลเล่ต์ประกอบเพลงพระราชนิพนธ์ เรื่อง “มโนห์รา” ซึ่งพระองค์เสด็จฯ ทอดพระเนตรการจัดฉาก แสง สี ด้วยพระองค์เอง รวมทั้งเสด็จทอดพระเนตรการแสดงตลอดทั้ง 5 คืน เป็นที่กล่าวขานกันว่าเป็นการแสดง “อันวิจิตรพิสดารมโมฬารยิ่ง” ปี 2531 มี “รถพ่วง” ถวายองค์ประธานในวันเปิดงานเป็นครั้งแรก ในปี 2538 คณะกรรมการอำนวยการฯ ได้จัดงานเสวยพระกระยาหารค่ำ และมีการประกวดร้านในงานกาชาด ปี 2540 มีการจัด “โต้รุ่งเสวย ณ อาคารใหม่สวนอัมพร” ขึ้นเป็นครั้งแรก ปี 2541  จัด “ราตรีรื่นรมย์ชมวัง ณ วังสวนกุหลาบ” ขึ้นเป็นครั้งแรก ปี 2543 ได้จัดให้มีการสรรหา “กุลบุตร – กุลธิดากาชาด” ครั้งแรก และเริ่มให้มีแนวคิดการจัดงานเป็นครั้งแรก งานในปีนี้จึงได้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “พลังกาชาด...สู่ปี 2000” เนื่องจากเป็นปีที่ตรงกับ ค.ศ. 2000 หรือปีแห่งการเริ่มต้นสหัสวรรษใหม่ และเพื่อให้สอดคล้องกับกาชาดสากลที่ได้ขอให้สภากาชาดต่างๆ ใช้คำขวัญว่า “พลังของมนุษยชาติ The Power of Humanity” เพื่อแสดงถึงการร่วมแรงร่วมใจกันของมนุษย์ทุกหมู่เหล่า ต่อมาในปี 2545 ได้ขยายพื้นที่จัดงานไปถึงสนามหน้าที่ทำการสำนักพระราชวัง (สนามเสือป่า) รวมถึงได้มีการนำเครื่องเล่นจากสวนสนุกเข้ามาในงานเป็นครั้งแรก และได้ปรับราคาค่าบัตรผ่านประตู จากเดิม 10 บาท เป็น 20 บาท ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากประชาชนที่มาเที่ยวชมงานส่งผลให้เป็นปีที่มียอดการจำหน่ายบัตรผ่านประตูสูงที่สุด 

ในปี 2558 งานกาชาดได้จัดประกวดขบวนแห่รถเฉลิมพระเกียรติฯ ย้อนประวัติศาสตร์ 90 ปีงานกาชาดและในปี 2559 งานกาชาดได้จัดให้มีขบวนแห่รถประดับไฟเฉลิมพระเกียรติฯ และการแสดง แสง สี เสียง ชุด “ราชการุณย์”เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สภานายิกาสภากาชาดไทยในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 

จนกระทั่งในปี 2561 ได้ย้ายสถานที่จัดงานมายังสวนลุมพินี สวนสาธารณะใจกลางกรุงเทพมหานคร แต่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของกิจกรรมรื่นเริงเพื่อการกุศล และไม่มีการจำหน่ายบัตรผ่านประตู     

ในปี 2563 ได้เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จึงได้ปรับรูปแบบการจัดงานเป็นงานกาชาดวิถีใหม่ (New Normal) จากออนกราวน์สู่ออนไลน์ เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดในกลุ่มประชาชนที่มาเที่ยวชมงานกาชาด ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของการยกงานกาชาดมาอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยได้รวบรวมกิจกรรมและจำลองบรรยากาศงานกาชาด ณ สวนลุมพินี มาไว้บน www.งานกาชาด.com เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้คลี่คลายลง ในปี 2565 จึงได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการจัดงานในรูปแบบไฮบริด (Hybrid) โดยเป็นการจัดงานในรูปแบบออนกราวด์ ณ สวนลุมพินี ควบคู่ไปกับออนไลน์ นับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันงานกาชาดก็ได้ถูกจัดขึ้นในรูปแบบคู่ขนานทั้ง ONGROUND และ ONLINE เป็นต้นมา เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยแต่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของงานกาชาดประจำปี

และในปี 2566 นี้เป็นปีที่งานกาชาดได้จัดขึ้นครบ 100 ปี จึงได้กำหนดจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “งานวันกาชาด ๑๐๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๖๖ รื่นรมย์สุขฤดี ณ ที่แห่งการให้ #RedcrossFairCenturyOfCharity” และได้จัดให้มีกิจกรรมย้อนรำลึกถึงบรรยากาศงานวันกาชาดที่อบอวลไปด้วยความสนุกสนานและมหกรรมความรื่นเริงมากมาย อาทิ การจัดกระบวนแห่รถงานวันกาชาด ๑๐๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๖๖ กิจกรรม“ถนนย้อนวันวาน รื่นเริง งานวันกาชาด” ซึ่งเป็นกิจกรรมการแสดงกลางแจ้งที่เคยสร้างความประทับให้ผู้มาเที่ยวชมงานกาชาดในอดีตที่ผ่านมา เช่น การแสดงสุนัขตำรวจ ตะกร้อลอดห่วง การแสดงเชิดสิงโต การแสดงกระบี่-กระบอง การแสดงมวยไทยโบราณ รวมถึงกิจกรรม “ลีลาศรื่นรมย์ ณ สวนลุมพินี” กิจกรรม “รำวง ย้อนยุค” Landmark ถ่ายภาพ “สำราญใจในวันวานสู่งานวันกาชาด ๑๐๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๖๖” กับ 5 สถานที่จัดงานวันกาชาด ตั้งแต่ท้องสนามหลวง พระราชอุทยานสราญรมย์ สถานเสาวภา สวนอัมพร และสวนลุมพินี นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเชิญชวนให้ผู้มาเที่ยวชมงานวันกาชาด 100 ปี “นุ่งโจงห่มไทย”ตามยุคสมัย ตามสไตล์ของประชาชนแต่ละช่วงวัย อีกทั้งยังได้รวบรวมกิจกรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของงานไว้อีกมากมาย เช่น การออกร้านของหน่วยงานต่าง ๆ กว่า 300 หน่วยงาน การเสี่ยงโชคชิงรางวัล การจำหน่ายสลากกาชาด การจำหน่ายสินค้าอุปโภค-บริโภค ฯลฯ ด้านกิจกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้มีการพัฒนาให้สอดคล้องกับความสนใจของประชาชนมากขึ้น โดยมุ่งเน้นการให้ความสนุกได้ทุกที่ ทุกเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง

แกลลอรี่

ข่าวประชาสัมพันธ์งานกาชาด
แสดงข้อมูล
งานกาชาด 2567 จำนวน 1 รายการ
ติดตามเราได้ที่