
กว่า 115 ปี ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย ได้เปิดให้บริการเป็นที่พึ่งด้านสุขภาพ แก่ประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติในภาคตะวันออก เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ผู้พระราชทานกำเนิดโรงพยาบาล ที่ว่า “ถ้าได้มีสถานพยาบาลคนเจ็บไข้ขึ้นในตำบลนี้ นอกจากจะได้ใช้เป็นที่รักษาพยาบาลข้าราชบริพาร และผู้ที่ตามเสด็จนั้นแล้ว ยังจะเป็นสาธารณประโยชน์ให้ประชาชนในท้องถิ่นที่ใกล้เคียงได้พึ่งพาอาศัยในยามเจ็บไข้ ซึ่งเป็นสาธารณกุศลและเป็นการช่วยชาติบ้านเมืองอีกส่วนหนึ่ง”
จวบจนปัจจุบันโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ได้ดูแลผู้ป่วยที่มารับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ปีละมากกว่า 1 ล้านราย มีผู้ป่วยในระบบประกันสังคมเลือกใช้สิทธิ์ที่โรงพยาบาลมากกว่า 3 แสนคนต่อปี โดยในจำนวนนี้มีทั้งประชากรในพื้นที่และประชากรแฝงที่เข้ามาทำงาน ในขณะที่โรงพยาบาลมีเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยในได้ประมาณ 500 เตียง แต่กลับมีผู้ป่วยที่มารับบริการจำนวนมากทำให้ต้องใช้เตียงเสริม เตียงผ้าใบ และนับวันก็จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือแม้กระทั่งในส่วนของหอผู้ป่วยใน ที่มีลักษณะกระจัดกระจายทำให้เครื่องมือและอุปกรณ์ในการรักษาต้องกระจายไปยังที่ต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดความล่าช้า ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายผู้ประสบอุบัติเหตุ ผู้ป่วยฉุกเฉิน จากหน่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ไปยังห้องเอกซเรย์หรือห้องผ่าตัดทำให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้ป่วย รวมถึงระบบเกี่ยวเนื่องเพื่อการรักษายังมีส่วนที่ไม่ทันสมัย ทั้งอุปกรณ์ และเครื่องมือทางการแพทย์หลายอย่างที่ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ส่วนที่มีอยู่ก็ค่อนข้างเก่า ชำรุดทรุดโทรมจนอาจเป็นอันตราย ต่อผู้ป่วยได้ เช่น เครื่องมือทางการแพทย์ในห้องตรวจ ห้องฉุกเฉิน ทำให้ไม่สามารถรองรับผู้ประสบอุบัติเหตุ อุบัติภัยหมู่ ผู้ป่วยฉุกเฉิน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในแต่ละวันยังมีผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้มากกว่า 20 ราย อีกทั้งการผ่าตัดต้องรอคิวนาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยโดยตรง ในรายที่รอได้ต้องรอมากกว่า 1 เดือน ผู้ป่วยที่มีกำลังจ่ายก็จะไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน แต่ก็ทำได้แค่ส่วนน้อย ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ได้รับผลกระทบคือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ ทั้งนี้ก็เนื่องจากโรงพยาบาลขาดทุนทรัพย์ที่จะ ดำเนินการปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างมีระบบมาเป็นระยะเวลายาวนาน…เหล่านี้คือสถานการณ์ที่เคยเป็นอยู่
นายนิพนธ์ เทียนทอง อายุ 58 ปี อดีตคนขับรถสองแถว
…ที่วันนี้ต้องกลายเป็นผู้พิการหรือผู้ป่วยติดเตียงไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ทำให้พี่สาวหรือป้าติ่งต้องดูแลอย่างใกล้ชิด แต่เหมือนโชคชะตาเล่นตลก พี่สาวที่คอยดูแลน้องชายต่างก็มีสภาพไม่ต่างกันคือพิการที่ขาทั้งสองข้าง แต่ก็ยังพอใช้เข่าทั้งสองข้างเดินเพื่อหาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างเป็นแม่ครัว ให้พอมีรายได้ประทังชีวิตเพียงวันละ 300 บาท…
คุณลุงนิพนธ์ เล่าว่า “ตอนเวลาประมาณ 2 ทุ่ม ขี่รถจักรยานยนต์ไปทำธุระแถวตำบลสุรศักดิ์ ชลบุรี พอไปถึงทางโค้งได้มีรถใหญ่เปิดไฟสูงวิ่งด้วยความเร็วสวนทางมาพอดี ทำให้รถของผมเสียหลักและพุ่งชนเข้ากับรถใหญ่จนร่างกระเด็นลอยเข้าไปในไร่มันของชาวบ้านในละแวกนั้น แต่ยังโชคดีที่ชาวบ้านมาพบและช่วยกันพามาส่งโรงพยาบาลสมเด็จฯ แห่งนี้ ทำให้ผมรอดชีวิตมาได้ แต่ก็กลายเป็นคนที่ไม่มีอาชีพ เพราะช่วงล่างขยับไม่ได้ ต้องผ่าตัดต้นคอ หัวเข่า ต้องใส่เหล็กไปตลอดชีวิต…
ผมต้องขอบคุณคุณหมอที่โรงพยาบาลสมเด็จฯ มาก ที่ทำให้ผมมีชีวิตอยู่เพื่อต่อสู้กับตัวเองอีกครั้ง ผมจึงอยากวิงวอนขอให้ท่านผู้ใจบุญทุกท่าน ร่วมบริจาคเงินให้กับโรงพยาบาลสมเด็จฯ เยอะ ๆ เพื่อที่จะได้มีเงินมาซื้อเครื่องมือแพทย์ เครื่องมือผ่าตัดในการรักษาผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือและรอคอยความหวังอย่างผม…ได้โปรดเถอะครับเพราะคนที่ไม่มีคือไม่มีจริง ๆ”
นางอัญชลี สารกุล อายุ 56 ปี
ผู้ป่วยโรคไตวายระยะสุดท้ายและโรคเบาหวาน
ที่กำลังจะคร่าดวงตาของเธอให้มืดมิดลง มิหนำซ้ำยังต้องตัดนิ้วเท้าทิ้ง

คุณป้าอัญชลี เล่าว่า “ตอนนั้นเป็นแผลที่เท้าข้างซ้ายและรู้สึกว่าตัวเองไม่สบายมีไข้ตัวร้อนจึงไปหาหมอที่โรงพยาบาลสมเด็จฯ พอหมอตรวจเสร็จหมอบอกว่าป่วยด้วยโรคเบาหวาน และแผลที่เท้าติดเชื้อต้องตัดนิ้วทิ้งไม่อย่างนั้นจะลามไปมากกว่านี้ แต่ก็เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด หลังจากนั้นอีก 2 ปี ก็โดนน้ำร้อนลวกที่ขาอีกจึงกลับไปหาหมออีกครั้ง จึงทราบว่าเบาหวานลงไตแล้ว และกำลังจะขึ้นจอประสาทตา ตอนนี้เป็นโรคไตวายระยะสุดท้ายทำการรักษาได้เพียงแค่ประคับประคองชีวิต ด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมและล้างไตทางหน้าท้อง จอประสาทตาก็เริ่มเสื่อมจนมีอาการตาพล่ามัว การรักษาเพียงกินยาเพื่อบรรเทาอาการและล้างไต อาทิตย์ละ 2 ครั้ง เพื่อที่จะยื้อชีวิตให้อยู่ต่อไปได้ ซึ่งที่โรงพยาบาลมีเครื่องล้างไตเพียง 15 เครื่อง แต่คนไข้ที่ป่วยเป็นไตวายระยะสุดท้ายกลับมีจำนวนมาก เวลาล้างไตป้าจะต้องรอคิวนานถึง 4 ชั่วโมง ป้าจึงอยากให้ผู้ใจบุญทุกท่านร่วมบริจาคเงินให้กับโรงพยาบาลสมเด็จฯ เข้ามามาก ๆ เพราะโรงพยาบาลจะได้มีเงินไปซื้อเครื่องมือแพทย์อย่างพวกเครื่องล้างไต ฟอกไตเยอะ ๆ เพราะป้าเชื่อว่ายังมีคนที่รอคอยการช่วยเหลือรอคอยความหวังรอคอยโอกาสที่จะมีลมหายใจเพื่อต่อสู้กับชีวิตยังมีอยู่อีกมาก”