ด้วยพระเมตตาของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
ด้วยทรงห่วงใยประชาชนในเขตตำบลนี้ที่ยังขาดแคลนสถานพยาบาลและแพทย์
จึงทรงสร้างสถานพยาบาลขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2445
ปัจจุบัน คือ … โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย
ตั้งอยู่ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ถือเป็นโรงพยาบาลในสังกัดของสภากาชาดไทย
และในพระอุปถัมภ์พระมหากษัตริย์และเป็นโรงพยาบาลที่เก่าแก่แห่งหนึ่งในประเทศไทย
และได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้สภากาชาดสยามหรือสภากาชาดไทยในปัจจุบันดูแลกิจการตลอดมา…

โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย ได้เปิดให้บริการเป็นที่พึ่งด้านสุขภาพแก่ประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติ ในภาคตะวันออกมายาวนานถึง 115 ปี โดยสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งปัจจุบันนี้โรงพยาบาลตั้งอยู่ท่ามกลางนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 3 แห่ง ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า 5,000 โรงงาน โรงกลั่นน้ำมัน 3 แห่ง มีท่าเรือน้ำลึกเพื่อขนส่งสินค้า มีสนามบิน 2 แห่ง และยังเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภาคตะวันออกอีกด้วย สิ่งที่ตามมา คือ ปัญหาสุขภาพจากมลภาวะแวดล้อม โรคระบาด อุบัติเหตุจากการทำงาน การจราจร และโรคที่เกิดจากการทำงาน ทำให้อาคารต่าง ๆ ของโรงพยาบาลที่ให้บริการอยู่ไม่สามารถรองรับการรักษาพยาบาลอย่างเพียงพอกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น
ด้วยสภาพปัจจุบันของโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย ถือว่าเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ในภาวะวิกฤตต้องรับภาระในการให้บริการผู้ป่วยมากกว่า 1 ล้านรายต่อปี ซึ่งนับวันจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีระบบการรักษาประชาชนที่ไม่ทันสมัย สภาพของอาคารและอุปกรณ์หลายแห่งเก่าและชำรุดทรุดโทรม ความไม่เพียงพอของหอผู้ป่วยเกิดวิกฤต ห้องผ่าตัด ห้องรับผู้ป่วย และห้องฉุกเฉินที่คับแคบไม่สามารถรองรับผู้ประสบอุบัติเหตุ อุบัติภัยหมู่ ผู้ป่วยฉุกเฉิน ฯลฯ เพราะโรงพยาบาลขาดทุนทรัพย์ในการดำเนินการปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างมีระบบมาเป็นระยะเวลายาวนาน
โดยนับจากปี 2552 โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา มีจำนวนผู้ป่วยนอกประมาณ 300,000 รายต่อปี แต่ในปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยนอกจำนวน 750,000 รายต่อปี ไม่รวมผู้มารับบริการที่ศูนย์ประกันสุขภาพสาขา อีกปีละ 400,000 ราย และนับวันจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลมีเตียงรับผู้ป่วย 420 เตียง (ไม่รวม ICU, ER, NICU) ปัจจุบันต้องใช้เตียงเสริม เตียงผ้าใบ และในแต่ละวันมีผู้ป่วยไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้มากกว่าวันละ 20 ราย อีกทั้งการรอคิวผ่าตัดซึ่งในรายที่รอได้ต้องรอนานมากกว่า 1 เดือน ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่คือประชาชนที่ไม่มีกำลังจ่าย


โครงการก่อสร้างอาคารศูนย์รักษาพยาบาลรวมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ๑๕๐ ปี โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย
เกิดขึ้นโดยพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย
เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า องค์ผู้พระราชทานกำเนิดโรงพยาบาล
และเพื่อการพัฒนาโรงพยาบาลแห่งนี้ให้มีศักยภาพและประสิทธิภาพ มีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางการให้บริการทางการแพทย์ในภูมิภาคตะวันออก
ที่เอื้อต่อการให้บริการผู้ป่วยและประชาชนผู้ด้อยโอกาสให้สามารถเข้าถึงการบริการรักษาพยาบาลได้ง่าย
ทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยไม่เลือกเชื้อชาติ ชนชั้น และศาสนา

• ดังนั้นจากความไม่เป็นหมวดหมู่ และปัญหาโครงสร้างของอาคารรักษาพยาบาล ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 20-50 ปี ทำให้สภาพขอหอผู้ป่วยมีสภาพเก่าแก่ ทรุดโทรม คับแคบ ผู้ป่วยต้องอยู่ในสภาพแออัด อีกทั้งหอผู้ป่วยมีลักษณะกระจัดกระจายทำให้การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไป-มาล่าช้า และเกิดความเสี่ยงต่อผู้ป่วย
• จากความไม่เพียงพอของหอผู้ป่วยวิกฤตและห้องผ่าตัด หอผู้ป่วยวิกฤต (Intensive Care Unit : ICU) ที่ปัจจุบันมีเพียง 10 เตียง แต่ต้องให้การดูแลผู้ป่วยวิกฤตทั้งทางด้านอายุรกรรม ศัลยกรรม สูติกรรม และกุมารเวชกรรม ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อชีวิตเป็นอย่างยิ่ง และห้องผ่าตัดที่ปัจจุบันมีจำนวนห้องผ่าตัดเพียง 13 ห้อง แต่ต้องใช้เป็นห้องผ่าตัดผู้ป่วยทุกประเภท ส่งผลให้มีผู้ป่วยเข้ารับบริการผ่าตัดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในรายไม่ฉุกเฉินก็ต้องใช้เวลาเป็นเดือนส่งผลให้ผู้ป่วยต้องเลื่อนการผ่าตัด ดังนั้นหากไม่เพิ่มจำนวนห้องจะเกิดความเสี่ยงต่อผู้ป่วยอุบัติเหตุและผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างยิ่ง
• จากความคับแคบและไม่สามารถรองรับผู้ประสบอุบัติเหตุ อุบัติภัยของห้องฉุกเฉิน เนื่องจากห้องฉุกเฉินมีผู้มารับบริการเพิ่มขึ้นตลอดเวลา และมีอายุการใช้งานนานกว่า 17 ปี โดยตั้งแต่ปี 2532 ได้ขยายและเปลี่ยนพื้นที่มา 4 ครั้ง ซึ่งไม่สามารถปรับปรุงและขยายพื้นที่ได้อีก อีกทั้งยังไม่มีพื้นที่เฉพาะเพื่อรองรับผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน ผู้ประสบอุบัติภัยหมู่ ผู้ป่วยที่ได้รับสารเคมี หรือผู้ป่วยที่มีโอกาสติดเชื้อรุนแรงและแพร่กระจายได้ง่าย จึงส่งผลให้ยากต่อการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยที่มารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที
• และจากการต้องเตรียมรับสถานการณ์อุบัติภัยและสาธารณภัย เนื่องจากโรงพยาบาลตั้งอยู่ห่างจากนิคมอุตสาหกรรมไม่ถึงสิบกิโลเมตร และได้รับมอบหมายจากจังหวัดชลบุรีให้เป็นแม่ข่ายในการพัฒนาคุณภาพระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินเครือข่าย 3 โดยรับผิดชอบพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่อำเภอศรีราชา เกาะสีชัง และอำเภอบางละมุง ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลได้มีการเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ รวมทั้งมีแผนปฏิบัติการและสามารถปฏิบัติได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องการพัฒนาระบบให้มีการจัดการเชิงรุกในด้านอุบัติเหตุ อุบัติภัย โดยการจัดตั้งศูนย์อำนวยการรับอุบัติภัยและพัฒนา “ศูนย์อุบัติเหตุ” (Trauma center) ขึ้นควบคู่กับการพัฒนา “ศูนย์บริการฉุกเฉิน” (Emergency center) และ “ศูนย์เวชศาสตร์อุตสาหกรรม” (Industrial Medicine Health Center)
แต่ด้วยในปัจจุบันโรงพยาบาลสมเด็จฯ ณ ศรีราชา สามารถให้บริการได้เพียงในระดับทุติยภูมิและตติยภูมิในบางสาขา เช่น การผ่าตัดทางจุลศัลยกรรม และการผ่าตัดโดยการส่องกล้อง ซึ่งต้องการพัฒนาให้เป็นโรงพยาบาลที่มีความสามารถรักษาได้ในระดับสูงขึ้นไปเป็นตติยภูมิในสาขาที่จำเป็น เพื่อลดการส่งต่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่กรุงเทพฯ ซึ่งอาจเกิดผลต่อการรักษาและเสี่ยงต่อชีวิต รวมทั้งทำให้ผู้ป่วยต้องสูญเสียทั้งเวลา ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อันเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมอย่างยิ่ง


คุณป้าเรณู ศรีวัง ผู้ดูแล นายสงฆ์ ดำดี เล่าว่า “ตอนนี้คุณลุงอายุ 63 ปี ซึ่งป่วยเป็นโรคหลอดเลือดในสมองตีบ เริ่มเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลสมเด็จฯ ตั้งแต่ปี 2554 และเข้ามารักษาอีกครั้งในปี 2558 ซึ่งครั้งนี้คุณลุงต้องนอนโรงพยาบาลถึง 8 เดือน ต้องใส่ท่อช่วยหายใจและมีภาวะติดเตียงไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หลังจากนั้นเมื่ออาการเริ่มดีขึ้นคุณหมอให้กลับบ้านได้ แต่การกลับไปพักรักษาตัวที่บ้านต้องใช้อุปกรณ์การแพทย์ต่อเนื่อง แต่ด้วยอาชีพเก็บของเก่าขายรายได้ในแต่ละวันอยู่ที่ร้อยกว่าบาทไม่มีเงินมากพอเพื่อหาซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้ลุงสามารถประคองชีวิตผ่านไปได้ในแต่ละวัน ซึ่งตอนนั้นป้าเครียดมากโรงพยาบาลจึงช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายตรงนี้ โดยการให้ยืมเตียงผู้ป่วย ยืมถังออกซิเจน เครื่องปั่นอาหาร และอุปกรณ์การแพทย์อื่น ๆ ที่จำเป็นและช่วยปรับสภาพแวดล้อมของบ้านให้ดีขึ้นเพราะการช่วยเหลือจากโรงพยาบาลในวันนั้นทำให้ลุงได้มีชีวิตใหม่ที่ดีขึ้น จึงอยากขอให้ผู้ใจบุญทุกท่านช่วยกันบริจาคทุนทรัพย์ให้กับโรงพยาบาลมาก ๆ จะได้มีทุนทรัพย์เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ด้อยโอกาสและยากไร้รายอื่น ๆ ด้วย เพราะยังมีคนกลุ่มนี้รอความช่วยเหลืออีกมากวันนี้ป้าได้รับความช่วยเหลือมาแล้วกับตนเอง ป้าอยากให้คนที่ลำบากเหมือนป้าได้รับการช่วยเหลือแบบป้าบ้าง”


นายสมคิด พลหาญ อายุ 66 ปี อาชีพ ค้าขายแถวชุมชนริมทะเล เล่าว่า “ผมมักจะมีอาการปวดหัว เวลาปวดหัวเหมือนหัวจะระเบิด หมอบอกว่าผมเป็นความดันไขมันในเลือดสูง และเส้นเลือดในสมองตีบ ผมไม่ได้ทานยา ต่อเนื่องเพราะผมไม่อยากไปโรงพยาบาล เมื่อมีหมอกับพยาบาลโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา มาเยี่ยมถึงชุมชนริมทะเล ทุกคนที่นี่ดีใจมาก หมอกับพยาบาลจะเข้ามาวัดความดัน ทำแผลและช่วยเหลือให้ผมไปรักษาที่โรงพยาบาลต่อเนื่อง หมอให้ยารักษาจนผมอาการดีขึ้นมาก ต้องขอบคุณทีมแพทย์ พยาบาล โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ที่ดูแลพวกเราเป็นอย่างดี หลังจากรู้ว่าที่โรงพยาบาลได้สร้างตึกใหม่ “ศูนย์รักษาพยาบาลรวมเฉลิมพระเกียรติฯ ภาคตะวันออก” ผมดีใจมากที่โรงพยาบาลจะได้มีตึกตรวจหลังใหม่ เพราะตอนนี้โรงพยาบาลดูเก่าคนไข้ที่มาตรวจก็หนาแน่นทุก ๆ วัน แพทย์ พยาบาลทำงานลำบากห้องตรวจคับแคบ ถ้ามีตึกใหม่ชีวิตอีกหลายคนน่าจะดีขึ้น …ผมอยากเชิญชวนท่านผู้ใจบุญทุกท่านมาร่วมบริจาคเงินเพื่อสร้างตึกให้สำเร็จ จะได้เป็นที่พึ่งของผู้ยากไร้ผู้ด้อยโอกาสในสังคมครับ”

เนื่องในโอกาสครบ 115 ปี ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ได้ดำเนินภารกิจด้านการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยไข้ ในวันที่ 10 กันยายน 2560 สภากาชาดไทย ขอเชิญชวนท่านผู้มีจิตศรัทธาผู้ใจบุญทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการ “ให้” กับโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์รักษาพยาบาลรวมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ๑๕๐ ปี…เพราะการให้ที่ยิ่งใหญ่… คือการได้ให้โอกาสเพื่อนมุนษย์ที่เจ็บป่วยมีสถานพยาบาลที่ทันสมัย มีความพร้อมในด้านการบริการทางการแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาโรค รวมถึงการดูแลผู้ป่วยยากไร้ด้อยโอกาสให้สามารถดำรงชีพได้อย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคมต่อไป



